รู้จักกับปั๊มลมและประโยชน์การใช้งาน

ปั๊มลม

คนทั่วไปอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักสิ่งที่เรียกว่าปั๊มลม กันมาบ้าง แต่อาจยังไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว มันคืออะไร และมีประโยชน์ใช้สอยอย่างไร แต่คาดว่าคนที่ประกอบอาชีพในวงการอุตสาหกรรมน่าจะรู้จักกันดี

ปั๊มลม คืออะไรกันนะ?

ปั๊มลม (Air Compressor) เป็นเครื่องมือไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ในการอัดลมให้มีแรงดันที่สูงตามต้องการ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามต้องการ มักจะนำมาใช้งานในระบบอุตสาหกรรมหรือโรงงานต่าง ๆ

ปั๊มลมมีกี่ประเภท

  1. แบบลูกสูบ

ปั๊มลมแบบลูกสูบ ทำงานโดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังมาขับเคลื่อนลูกสูบให้มีการเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ทำให้เกิดแรงดูดและแรงอัดอากาศขึ้นภายในกระบอกสูบ โดยจะมีวาล์วฝั่งที่ดูดและวาล์วทางออกที่ทำงานสัมพันธ์กัน เป็นปั๊มลมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยราคาที่ไม่สูงมาก และยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย แต่จะมีเสียงดังขณะที่เครื่องทำงาน

  1. แบบไดอะเฟรม

ระบบการทำงานคล้ายกับแบบลูกสูบ แต่จะมีแผ่นไดอะเฟรมมากั้น เพื่อไม่ให้อากาศสัมผัสกับตัวลูกสูบ ลมที่ถูกดูดเข้าไปจึงไม่สัมผัสกับส่วนที่เป็นโลหะ ลมที่ออกมาจึงเป็นลมที่สะอาดและไม่มีสิ่งปนเปื้อน และไม่ส่งเสียงดังมากนักเมื่อเทียบกับแบบลูกสูบ

  1. แบบสกรู

ปั๊มลมชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยความที่สามารถผลิตลมที่มีคุณภาพสูง ทำงานโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังนำพาให้สกรูสองตัวหมุนเข้าหากันแล้วเกิดแรงดันอากาศขึ้นมา จึงได้ลมที่มีปริมาณสม่ำเสมอกว่าแบบลูกสูบ

  1. แบบใบพัดเลื่อน

ปั๊มลมแบบใบพัดจะไม่มีวาล์วเปิด-ปิด เป็นแบบที่ไวต่อความร้อน สามารถกระจายแรงลมได้ดี ตัวเครื่องหมุนแบบเรียบทำให้อากาศที่ออกมามีความสม่ำเสมอ มีแรงดันคงที่ 

  1. แบบใบพัดหมุน

ปั๊มลมแบบใบพัดหมุน จะทำงานโดยใช้ใบพัดหมุนสองตัวในการหมุน จึงเกิดการดูดอากาศจากช่องลมเข้ามาที่ใบพัดแรก ต่อไปยังใบพัดที่สอง แล้วไปยังช่องทางออกของลม โดยที่อากาศไม่ถูกบีบอัด ซึ่งปั๊มลมแบบนี้ควรอยู่ในพื้นที่ที่ระบายความร้อนได้ดี

  1. แบบกังหัน

เป็นปั๊มน้ำที่ทำงานด้วยใบพัดแบบกังหันที่ดูดลมจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง มาตามแกนด้วยการหมุนแบบความเร็วสูง ซึ่งลักษณะแบบใบพัดก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเรื่องอัตราการจ่ายลม ที่สามารถกระจายแรงลมได้ดี แรง และสม่ำเสมอ

ปั๊มลมแต่ละแบบก็จะมีวิธีการทำงานทั้งส่วนที่คล้ายกันและแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะเลือกปั๊มลมแบบไหนจึงจะเหมาะกับการใช้งานในอุตสาหกรรมของตนเอง